ส่งเสริมวิจัยสไตล์ทริดี้ ตอน 2: วิจัยอย่างไรไม่ขึ้น”หิ้ง”

จะไปสู่”ห้าง” ต้องสร้างเทคโนโลยีใหม่

ตอนที่แล้วพูดถึงแนวคิดการส่งเสริมวิจัยของทริดี้ที่มุ่งแนวทาง “จากห้างสู่ห้าง” หมายถึง เริ่มจากเป้าหมายงานวิจัยเพื่อนำไปใช้งานจริง จะได้ไม่ต้องนำไปขี้น”หิ้ง”ก่อนรอบหนึ่งแล้วต้องมานำไปสู่”ห้าง”อีก

เราพบว่า พอกำหนดเป้าหมายชัดเจนแล้ว ผู้ขอสนับสนุนรับทุนส่วนใหญ่จึงเป็นบริษัทเอกชน ทีต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งนี้ เป็นเพราะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆของรัฐ ไม่ค่อยมีความพร้อมที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เราจึงมาคิดว่า ควรจะส่งเสริมงานวิจัยของนักวิจัยกลุ่มนี้อย่างไร โดยที่ยังคงแนวคิดที่ว่า งานวิจัยที่สำเร็จจะต้องไม่ไปขึ้น”หิ้ง”


สำหรับงานวิจัยเชิงวิชาการนั้น มักเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่ ถ้าเป็นระดับปริญญาโท มักจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยวิธีการสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ (computer simulation) ปัญหาที่แก้ก็อาจจะเป็นการปรับปรุงต่อยอดวิธีการบางอย่างที่มีอยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นการศึกษาวิธีการต่างๆหลายวิธีเพื่อเปรียบเทียบกัน เป็นต้น ในขณะที่ระดับปริญญาเอก ก็จะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ต้องเน้นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่ยังไม่เคยมีการวิจัยมาก่อน และมักมีข้อกำหนดให้ต้องตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการนานาชาติ ก่อนจะได้รับอนมุติให้จบการศึกษาได้

หัวใจของสิ่งที่ทริดี้ต้องการสนับสนุนคือ ส่งเสริมงานวิจัยที่นำไปใช้งานจริง งานวิจัยเชิงวิชาการอาจไม่สามารถใช้งานได้ทันที ดังนั้น ทางออกที่จะทำให้งานวิจัยมีโอกาสนำไปใช้งานจริงมากที่สุด คือ ให้ยื่นจดสิทธิบัตรจากผลงานวิจัย เพราะผลงานวิจัยที่ยื่นจดสิทธิบัตรย่อมหมายความว่า 1) มีความใหม่ ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน 2) มีขั้นตอนประดิษฐ์ที่สูงขึ้น หรือมีการแก้ไขปัญหาเทคนิคของสิ่งที่มีมาก่อน และ 3) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม ได้ 2 ข้อแรกเป็นลักษณะปกติของงานวิจัยทั่วไปอยู่แล้ว แต่ข้อสุดท้ายจะเป็นการตอบโจทย์ที่ว่า งานวิจัยนั้นๆเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีโอกาสนำไปใช้งานต่อไปนั่นเอง

ทริดี้จึงสร้างทุนสนับสนุนการวิจัยขั้นสูง (TRIDI Advanced Research Grant) ขึ้น โดยกำหนดให้นักวิจัยต้องสำรวจสิทธิบัตรในสาขาเทคโนโลยีที่จะทำการวิจัยก่อน เพือประเมินความเป็นไปได้ในการยืนจดสิทธิบัตร วิธีการนี้จะทำให้เราสามารถเห็นแนวโน้มของเทคโนโลยีที่เกียวข้อง และเห็นว่ามีความสนใจในการยื่นจดสิทธิบัตรมากน้อยเพียงใด งานวิจัยก็จะมีเป้าหมายในการนำไปประยุกต์ใช้ที่ชัดเจนมากขึ้น

แน่นอน บางท่านอาจโต้แย้งว่า งานวิจัยวิชาการอาจไม่ได้ใช้งานในวันนี้ แต่อาจจะถูกนำมาใช้ในอีกหลายปีข้างหน้า หรืออาจจะเป็นองค์ความรู้เพื่อนำไปองค์ความรู้ใหม่อื่นๆ อีก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราสนใจในที่นี้คืองานวิจัยด้าน”วิศวกรรม” ไม่ใช่งานวิจัยด้าน”วิทยาศาสตร์” (พื้นฐาน) ถ้าจะต้องสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีก็จะต้องตอบโจทย์ปัญหาหรือมีช่องทางการประยุกต์ใช้ที่ชัดเจน ไม่ใช่งานวิชาการเพื่อวิชาการเท่านั้น

เราไม่ได้ปฏิเสธการวิจัยเชิงวิชาการบริสุทธิ์ แต่เราเห็นว่า งานวิจัยในลักษณะดังกล่าว มีทั้งนักวิจัยและแหล่งทุนสนับสนุนอยู่แล้ว หากทริดี้จะสนับสนุน ก็ต้องการให้มีความแตกต่าง โดยยังมุ่งเน้นไปที่การนำไปใช้ประโยชน์ในที่สุด เราจึงเห็นว่า ควรมีโจทย์ปัญหาและแนวทางการนำไปประยุกต์ใช้ที่ชัดเจน

สิทธิบัตรนานาชาติ

งานวิจัยชิ้นแรกที่ ทริดี้ยื่นจดสิทธิบัตร เป็นงานวิจัยเรื่อง Chaotic Oscillator ของสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การยื่นจดสิทธิบัตรไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของโครงการวิจัย แต่เกิดจากการไปติดตามความคืบหน้างานวิจัย เมื่อทราบว่า ผลงานวิจัยได้ค้นพบ chaotic oscillator ประเภทหนึ่งที่มีจำนวนพจน์ที่น้อยที่สุดในโลก ซึ่งจะช่วยให้ลดความซับซ้อนในการนำไปสร้าง (implement) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทสื่อสารระดับโลก เช่น โมโตโรลล่า ยื่นจดสิทธิบัตรในทำนองเดียวกัน ทำให้เราตัดสินใจทันทีที่จะยื่นจดสิทธิบัตรนานาชาติ นับเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่คุ้มค่าอย่างยิ่งทั้งสำหรับนักวิจัยและผู้ให้ทุนคือทริดี้ อาจารย์ต้องชะลอการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการนานาชาติอยู่ประมาณ 2-3 เดือน จนทริดี้สามารถยื่นสิทธิบัตรนานาชาติ (PCT) ได้เป็นฉบับแรกของทริดี้

งานวิจัยอีก 2 งานที่ได้ยื่นจดสิทธิบัตรนานาชาติแล้วเช่นกัน ได้แก่ สายอากาศไมโครสตริปแบบโพลาไรเซชั่นแบบวงกลมด้วยวัสดุแม่เหล็กไฟฟ้าสังเคราะห์ (Meta-material) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และโครงการอุปกรณ์สื่อสารเสมือนประสาทเพื่อผู้พิการของมหาวิทยาลัยมหิดล

ขณะนี้ สิทธิบัตรทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวผ่านการตรวจสอบจากสำนักตรวจสอบสิทธิบัตรนานาชาติ PCT แล้ว ทริดี้กำลังเตรียมยื่นจดสิทธิบัตรในต่างประเทศต่อไป

ผลจากการให้ความสำคัญกับเรื่่องสิทธิบัตรทำให้เกิดการตื่นตัวของนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก้ไขความเข้าใจผิดที่ว่า การยื่นสิทธิบัตรจะต้องรอไปหลายปี ทำให้ไม่สามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เราสามารถยื่นจดสิทธิบัตรก่อนตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งก็ใช้เวลาเพิ่มก่อนตีพิมพ์ไม่กี่เดือนเท่านั้น ก็จะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่วันที่ขอยื่นจดสิทธิบัตร ถ้านักวิจัยใช้แนวทางที่ว่ามานี้ ก็จะได้ทั้งสิทธิบัตรและผลงานตีพิมพ์ไปพร้อมๆกัน งานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมในต่างประเทศก็ทำกันเช่นนี้ทั้งสิ้น

งานวิจัยเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม ต้องสร้างเทคโนโลยีใหม่ และจดสิทธิบัตรคุ้มครอง เพื่อสามารถหาประโยชน์จากการประดิษฐ์นั้นๆได้ในอนาคต แค่นี้ ก็จะไม่เป็นงานวิจัยที่ขึ้น “หิ้ง”อีกต่อไป

ส่งเสริมวิจัยสไตล์ทริดี้ ตอน 1: จาก”ห้าง”สู่”ห้าง”

Leave a comment