ส่งเสริมวิจัยสไตล์ทริดี้ ตอน 9: ก้าวที่ “หาย” ไป…

ประเทศไทยเคยฝันอยากจะเป็นประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) แต่แล้ว เราก็ปล่อยให้รถไฟขบวนแล้วขบวนเล่าผ่านเราไป จากที่เราเคยคิดจะแข่งขันกับประเทศเกาหลีใต้และไต้หวัน เราก็ปล่อยให้มาเลเซียก้าวข้ามเราไป และตอนนี้เราเริ่มต้องมาแข่งขันกับเวียดนาม ต่อไป เราอาจจะต้องไปแข่งกับประเทศอื่นๆในกลุ่มอินโดจีนหากไม่มีการปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศอย่างขนานใหญ่

ในตอนสุดท้ายนี้ ผมขอย้อนกลับไปยังคำถามที่เคยตั้งไว้ในตอนแรกของบทความชุดนี้ นั่นก็คือ ประเทศไทยมีงานวิจัยและพัฒนามากมาย แต่ทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาของคนไทยในด้านโทรคมนาคม ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยยังไม่ได้ก้าวไปสู่การเป็น “ประเทศผู้ผลิต” ในกลุ่มผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมหรือไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด

ทุกวันนี้ ประเทศไทย ยังติดกับดักอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือประเทศกำลังพัฒนา การที่จะนำประเทศไทยก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้นั้น ต้องเปลี่ยนจากประเทศที่ใช้แรงงานราคาถูก ไปเป็นประเทศที่อาศัยนวัตกรรม เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัย “การวิจัยและพัฒนา” เท่านั้น

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เคยมีความพยายามมาแล้วครั้งหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม โดยมีข้อตกลงในการระดมทุนจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนในขณะนั้นให้ได้ทุนวิจัยรวมประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์โทรคมนาคมขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวต้องหยุดไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่

เมื่อเห็นว่าประเทศไทยได้ล้าหลังในการวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลานาน ในการยกร่าง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี พ.ศ. 2543 จึงได้กำหนดให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีหน้าที่ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และการพัฒนาบุคลากรโทรคมนาคม เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจขององค์กรกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคม และเป็นที่มาของการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือทริดี้ เพื่อเป็นเจ้าภาพหลักในเวลาต่อมา

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ทริดี้ได้เริ่มต้นภารกิจจากศูนย์ จนสามารถดำเนินการสนับสนุนอย่างครบวงจร ทริดี้ได้สนับสนุนทุนวิจัยสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาระดับชาติ 11 แห่ง สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาควิจัยกับภาคอุตสาหกรม สามารถสร้างผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม 8 ผลิตภัณฑ์ ยื่นจดสิทธิบัตรนานาชาติแล้ว 3 ฉบับ มีทุนการศึกษาเพื่อสร้างนักวิจัยในประเทศ ระดับปริญญาโท และปริญญาเอกรวม 60 คน และเริ่มมีผลงานวิจัยระบบประสาทเสมือนเพื่อผู้พิการ ซึ่งวิจัยสำเร็จและใช้งานได้แล้ว อยู่ระหว่างเจรจากับภาคเอกชนเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์

เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า ในการยกร่าง พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่ ปี พ.ศ. 2553 กลับมีการตัดภารกิจในการส่งเสริมวิจัยและพัฒนา ออกจากหน้าที่เดิมของ กสทช. โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆที่ไม่ใช่ประเด็นอ่อนไหว และไม่ปรากฎว่ามีการเสนอแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการฯ แต่อย่างใด แต่กลับถูกตัดออกไปอย่างเงียบๆ

เคยมีผู้โต้แย้งภารกิจของทริดี้ว่า ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศใดในโลกนี้ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมวิจัยด้วย ซึ่งผมเห็นว่าเป็นความคิดที่คาดเคลื่อน แนวโน้มของการกำกับดูแลยุคใหม่นั้น มีหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง มุ่งเน้นบทบาทใน “การส่งเสริม” นอกเหนือไปจากการ “ควบคุม” แต่เพียงอย่างเดียว และถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ประเทศไทยทำไม่เหมือนใครในโลกนี้ก็ตาม ก็ถ้าหากว่ามันใช้ได้ผล เราก็ควรใช้ความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครนี้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศมิใช่หรือ

ผลจากการตัดภารกิจออกไปดังกล่าว ทำให้นักกฎหมายตีความว่า สถานภาพของทริดี้ต้องสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย เพราะกสทช. ไม่มีหน้าที่ดังกล่าวอีกต่อไป ภารกิจการส่งเสริมวิจัยต้องสะดุดหยุดลง มีนักวิจัยทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมการขอสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆหรือยื่นจดสิทธิบัตร มีนักศึกษาจำนวนมากเตรียมยื่นขอทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีผลงานวิจัยที่อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ ทุกอย่างต้องเว้นว่างไปอย่างน้อยเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว หากจะมาสนับสนุนอีกครั้ง ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่

สิ่งที่ยังพอจะดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน คือ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการโทรคมนาคม กองทุนนี้ กำกับดูแลโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่แต่งตั้งโดย กสทช.

แน่นอน สิ่งที่ทริดี้ทำมาอาจจะไม่ได้ถูกต้องหรือประสบผลสำเร็จไปทั้งหมด แต่ถือเป็นความพยายามรอบใหม่ ที่ได้ “เริ่มต้น” และ “เห็นผล” เกิดขึ้นแล้วในการผลักดันการวิจัยและพัฒนาแบบมุ่งเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการผลิต อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ผมได้แต่หวังว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะได้พิจารณาสานต่อแนวทางการดำเนินการที่ผ่านมา ของ กทช. ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคม ผ่านทางกลไกของกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยอาจจะปรับหรือขยายรูปแบบตามที่เห็นว่าเหมาะสมต่อไป

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบพระคุณคณะกรรมการบริหารงานและคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของทริดี้ ที่ได้ชี้แนะแนวทางการดำเนินงาน ขอขอบคุณผู้บริหารและบุคลากรทุกคนที่ได้ทุ่มเท เสียสละทำงานอย่างหนักตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุด พวกเราได้แสดงให้เห็นแล้วว่า “เราทำได้” เราสามารถส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการผลิตของคนไทยได้ ถ้ามีความตั้งใจและทุ่มเทอย่างจริงจัง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะยังคงอยู่บนเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ด้วยปณิธานที่ว่า “จากผู้ใช้ สู่ ผู้สร้าง” ต่อไป

26 กุมภาพันธ์ 2555

One response to “ส่งเสริมวิจัยสไตล์ทริดี้ ตอน 9: ก้าวที่ “หาย” ไป…

  1. อ่านแล้วนึกถึงตอนทำวิทยานิพนธ์ไม่มีใครมาต่อยอดทำเพื่อให้เรียนจบก็เท่านั้นถ้าประเทศไทยพัฒนาได้ตามที่ดร.ว่าก๋คงจะดี

Leave a reply to sameng Cancel reply